4950 จำนวนผู้เข้าชม |
“ทุกวันพุธเราใส่สีชมพู!” ประโยคจากหนังไฮสคูลเรื่องดังอย่าง Mean Girls ที่เป็นเสมือน iconic ของแก๊งสาวแซ่บๆ รว้ายๆ ในยุค 00s โดยภาพของสาวๆในแก๊งชุดสีชมพูที่ปรากฏมากมายบนโลกอินเตอร์เน็ต รวมไปถึงสโลแกนในข้างต้น นั่นคือกฏของ ‘แก๊งพลาสติก’ กลุ่มเด็กสาวที่ดังและมีอิทธิพลที่สุดในโรงเรียนนอร์ทชอร์
.
แม้สีแดงและชมพูจะดูราวกับเกิดมาเป็นสีของผู้หญิง เหมือนที่เรจิน่า จอร์จเป็นตัวร้ายที่สมบูรณ์แบบในหนังวัยรุ่นอเมริกัน แต่ความจริงแล้วผิดถนัด! เพราะดั้งเดิมสีฟ้าต่างหากที่เป็นสีของผู้หญิง และสีชมพูเป็นของผู้ชาย
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่การแบ่งแยกสีสันกับเพศสภาพเกิดขึ้น เด็กผู้หญิงมักถูกผูกติดกับสีฟ้า เนื่องมาจากเป็นสีเดียวกับผ้าคลุมของพระแม่มารีย์ ส่วนเด็กผู้ชายนั้นมักใช้สีชมพู เพราะเป็นเฉดสีอ่อนของสีแดง ที่สื่อถึงความแข็งแรง กล้าหาญนั่นเอง
.
จุดเปลี่ยนที่ทำให้สีฟ้ากลายมาเป็นของเด็กผู้ชาย และสีชมพูเป็นสีประจำของเด็กผู้หญิง นั่นก็เพราะในช่วงปี 1960 – 1970 กระแสเฟมินิสต์เริ่มได้รับความสนใจ ทำให้เริ่มมีการส่งเสริมให้เด็กสวมชุดที่มีความเป็น Unisex มากขึ้น แต่ก็เริ่มมีการพยายามนำสีฟ้าและสีชมพูกลับมาอีกครั้งในช่วง 1980 เพราะเทคโนโลยีอัลตราซาวด์ทำให้พ่อแม่สามารถรู้เพศกำเนิดของเด็กได้ตั้งแต่ในครรภ์ ซึ่งการตลาดในยุคนั้นเองก็มีการส่งเสริมให้สีชมพูเป็นของเด็กผู้หญิง เพื่อที่จะได้ดูน่ารัก อ่อนหวาน ในขณะที่เด็กผู้ชายเป็นสีฟ้า เพราะหมายถึงความสุขุมนั่นเอง
มาถึงตรงนี้แล้วคุณคิดว่าจริงๆแล้วสีมีเพศหรือไม่? และถ้ากลุ่มของคุณมีกฏ การแต่งตัวจะเป็นสีอะไร?